ธรรมบรรยายวันที่ 2

คํานิยาม ของบาปและบุญ-อริยมรรคมีองค์ 8: ศีลและสมาธิ

วันที่ 2 ได้ผ่านไปแล้ว แม้ว่าจะดีขึ้นกว่าวันแรกเล็กน้อย แต่ความยากลําบากก็ยังคงมีอยู่ จิตยังเร่าร้อน วุ่นวาย และพลุ่งพล่าน ไม่สงบ เหมือนโคถึกที่บ้าคลั่งหรือช้างตกมันที่บุกเข้ามาเหยียบย่ำทําลายบ้านเรือนคน ซึ่งถ้าหากมีใครที่ฉลาดสามารถฝึกสัตว์ที่บ้าคลั่งและตกมันเหล่านี้ให้เชื่องได้ ก็จะได้พละกําลังของสัตว์ที่เคยใช้ในการทําลาย ให้กลับมาเป็นประโยชน์ ในทางสร้างสรรค์ต่อสังคม เช่นเดียวกันจิตของเรานั้นมีพลังมากกว่าช้างสารตกมันเสียอีก เราจึงจําเป็นที่จะต้องทําให้มันเชื่องและฝึกฝนเพื่อให้พลังอันมหาศาลของจิตกลับมาเป็นประโยชน์ต่อตัวเรา หากแต่เราจะต้องใช้ความพยายามในการฝึกอย่างต่อเนื่องด้วยความอดทน เพราะความต่อเนื่องในการปฏิบัติคือเคล็ดลับของความสําเร็จ

ท่านจะต้องฝึกฝนด้วยตนเอง ไม่มีใครปฏิบัติแทนท่านได้ ผู้ที่บรรลุธรรมแล้วอาจจะบอกวิธีปฏิบัติให้ท่านทราบด้วยความรักและเมตตา แต่ก็ไม่อาจจะแบกใครขึ้นบ่าพาไปถึงจุดหมายปลายทางได้ ท่านจะต้องก้าวเดินไปด้วยตนเอง ต่อสู้ด้วยตนเองฝึกฝนอบรมใจเพื่อความหลุดพ้นของตนเอง เมื่อท่านเริ่มปฏิบัติท่านจะได้รับแรงเสริมจากธรรมะ แต่ท่านก็ยังจะต้องใช้ความเพียรพยายามเอาเอง ต้องเดินไปให้ตลอดทางด้วยตัวของท่านเอง

จงทําความเข้าใจกับเส้นทางที่ท่านได้เริ่มเดินมาแล้ว พระพุทธองค์ตรัสได้ไว้โดยย่อ และเข้าใจง่ายว่า:

ละเว้นจากการกระทำความชั่ว ความไม่บริสุทธิ์ทุกประการ,
กระทำแต่ความดี,
ทําจิตใจให้บริสุทธิ์,
นี้คือคําสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์

ทางสายนี้เป็นทางสายสากลที่ชนทุกชาติทุกศาสนาสามารถปฏิบัติได้ ปัญหาจะมีก็แต่เพียงการตีความหมายในเรื่องของบาปและบุญ ถ้าแก่นสารของธรรมะถูกเข้าใจผิดไป ก็จะกลายเป็นเรื่องของลัทธินิกาย เพราะแต่ละนิกายก็ให้นิยามของคําว่าบาปบุญไปต่างๆกัน อย่างเช่น บุญมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือบุญคือการทําพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเป็นความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นการตีความหมายตามลัทธิที่คนบางหมู่บางพวกยอมรับนับถือ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับนับถือเช่นเดียวกันทั้งหมด ที่จริงนั้นธรรมะก็ได้ให้คํานิยามที่เป็นสากลสําหรับคําว่าบาปและบุญอยู่แล้ว นั่นคือพฤติกรรมใดก็ตามที่ทําให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นการรบกวนสันติสุขและความสามัคคีของผู้อื่น พฤติกรรมนั้นล้วนเป็นบาป ตรงกันข้ามกับพฤติกรรมใดที่เป็นการช่วยเหลือผู้อื่น ส่งเสริมให้ผู้อื่นมีความสงบสุขและความสามัคคี พฤติกรรมเหล่านี้เป็นบุญ คํานิยามนี้ มิใช่เป็นไปตามลัทธิศาสนาใดๆ แต่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติมากกว่า ตามกฎธรรมชาตินั้น คนเราจะไม่กระทําสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นหากไม่เกิดกิเลส เช่น เกิดความโกรธ ความกลัว ความเกลียดชัง ฯลฯ ขึ้นในใจ เมื่อไรก็ตามที่คนเราเกิดกิเลสขึ้นในใจ คนๆนั้นก็จะเป็นทุกข์เหมือนตกนรก ในทํานองเดียวกัน คนเราจะไม่ทําสิ่งใดที่จะเป็นการช่วยเหลือผู้อื่น หากไม่เกิดความรัก ความพอใจ หรือความปรารถนาดีขึ้นมาก่อน ทันทีที่เราเริ่มพัฒนาคุณภาพจิตให้บริสุทธิ์ เราก็จะมีความสงบสุขเกิดขึ้นในใจ เหมือนกับได้ขึ้นสวรรค์ ดังนั้นเมื่อท่านช่วยผู้อื่น ก็เท่ากับท่านได้ช่วยตัวของท่านเองไปด้วยในเวลาเดียวกัน หรือถ้าท่านทําร้ายผู้อื่น ก็เท่ากับท่านทําร้ายตนเองไปด้วย นี่คือธรรมะ สัจธรรม เป็นกฎสากลของธรรมชาติ

วิถีแห่งธรรมะเรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 บุคคลใดที่เดินไปตามเส้นทางสายนี้ บุคคลนั้นเป็นบุคคลผู้มีจิตอันประเสริฐ เป็นอริยบุคคล ทางสายนี้แบ่งออกได้เป็น 3 หมวดคือ ศีล, สมาธิ, และ ปัญญา. ศีลคือจริยธรรม อันเกิดจากการงดเว้นจากการประพฤติผิด ทั้งทางกายและวาจา สมาธิคือการปฏิบัติเพื่อควบคุมจิตใจ การฝึกทั้ง 2 หมวดไปพร้อมๆกันจะช่วยให้ปฏิบัติได้ดีขึ้น แต่ทั้ง ศีล และ สมาธิ ก็ยังไม่สามารถขจัดกิเลสที่เกาะกุมจิตใจให้หมดไปได้ ดังนั้นจึงต้องมีการฝึกในหมวดที่ 3 อันได้แก่ ปัญญา ซึ่งเป็นการพัฒนาสติปัญญาและวิปัสสนาญาณ เพื่อชําระจิตให้บริสุทธิ์หมดจด ในหมวดของ ศีล ประกอบด้วยอริยมรรค 3 ประการ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ซึ่งแต่ละข้อมี ความหมายดังนี้

1)สัมมาวาจา--คือวาจาชอบ ได้แก่ การกระทําทางวาจาที่สุจริต ในการทําความเข้าใจว่าความสุจริตทางวาจาคืออะไรนั้น เราต้องรู้เสียก่อนว่าวาจาที่ไม่สุจริตคืออะไร นับตั้งแต่การพูดเท็จ เพื่อหลอกลวงผู้อื่น พูดหยาบคายให้ผู้อื่นเจ็บใจ พูดส่อเสียดให้ร้าย และพูดเพ้อเจ้อ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการกระทําทางวาจา ที่ไม่สุจริต หากผู้ใดละเว้นการกล่าววาจาที่ไม่ดีเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นผู้ที่มีวาจาชอบ

(2)สัมมากัมมันตะ--คือประพฤติชอบ ได้แก่การกระทําทางกายที่สุจริต ในทางธรรมะนั้น มีสิ่งที่ใช้เป็นบรรทัดฐานที่จะวัดความสุจริตของการกระทํา ทั้งทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ เพียงอย่างเดียวคือ ดูว่าการกระทํานั้น เป็นการช่วยเหลือผู้อื่น หรือทําให้เกิดผลร้ายต่อผู้อื่น ดังนั้นการฆ่าสัตว์หรือทําลายชีวิต การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม และการดื่มเครื่องดองของเมาจนไม่รู้สึกตัว จึงล้วนเป็นการกระทําที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น และเป็นอันตรายต่อตนเองด้วย เมื่อผู้ใดละเว้นการกระทําเหล่านี้แล้ว ผู้นั้นก็จะเป็นผู้ประพฤติชอบ

(3)สัมมาอาชีวะ--คือเลี้ยงชีพชอบ โดยปกติแล้วทุกคนต้องหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวโดยทางใดทางหนึ่ง แต่ถ้าการหาเลี้ยงชีพนั้นกลับเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น ก็จะไม่ใช่การเลี้ยงชีพชอบ แม้บางครั้งในการประกอบอาชีพ ตนเองอาจจะไม่ได้กระทําสิ่งที่ผิด แต่การกระทําของตนเองนั้นไปส่งเสริมให้ผู้อื่นกระทําผิด อันนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการทําอาชีพที่ชอบ ตัวอย่างเช่น ขายสุรา ขายอาวุธ ขายสัตว์ ขายมนุษย์ เปิดบ่อนการพนัน เหล่านี้ ล้วนมิใช่สัมมาอาชีพ และถึงแม้อาชีพที่ประกอบอยู่ จะจัดอยู่ในประเภทสัมมาอาชีพ แต่ผู้ประกอบการกลับมีพฤติกรรมที่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น การประกอบอาชีพของผู้นั้นก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นสัมมาอาชีพ และไม่อาจพูดได้ว่าเลี้ยงชีพชอบ ตรงกันข้ามหากเป็นการกระทําที่มีส่วนสร้างสรรค์สังคม เป็นการสละความรู้ความชํานาญของตนให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยได้รับผลตอบแทนเพียงพอที่จะทําให้ตนเองและครอบครัวดําเนินไปได้ เช่นนี้จึงจะเรียกว่าบุคคลผู้นั้นเลี้ยงชีพชอบ

ผู้ครองเรือนทุกคนต่างต้องการเงินมาใช้เลี้ยงตนเองและครอบครัว อันตรายจะเกิดขึ้น ก็เมื่อการหาเงินนั้นทําให้เกิดอัตตาเพิ่มขึ้น โดยการพยายามที่จะเก็บสะสมเงินไว้ให้มากที่สุด และรู้สึกดูแคลนคนที่หาเงินได้น้อยกว่า ทัศนคตินี้จะเป็นอันตราย ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เพราะยิ่งมีอัตตามากเท่าไร คนก็จะยิ่งหลุดพ้นยากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการดํารงชีวิตที่ถูกต้องจึงควรมีการให้ทาน คือการแบ่งปันรายได้ให้กับผู้อื่น ซึ่งเท่ากับว่าเรามิได้หาเงินมาเพียงเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น หากแต่ยังทําเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วย

หากธรรมะเป็นเพียงคําสอนที่ให้ละเว้นจากการกระทําที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นเท่านั้น ธรรมะนั้นก็จะไม่ให้ผลเลิศเลออะไรนัก ผลอันเลอค่าของธรรมะจะต้องสอนให้เราทั้งไม่ทําร้ายผู้อื่น และไม่ทําร้ายตนเองด้วย โดยทั่วไปเราก็เข้าใจกันดีอยู่แล้ว ถึงผลร้ายที่เกิดจากการทําความชั่ว และผลดีที่จะได้จากการทําความดี และเราอาจยอมรับความสําคัญของศีล จากการอบรมสั่งสอนของผู้ที่เราเคารพนับถือ แต่บ่อยครั้งที่เราก็ยังประพฤติผิดศีลอยู่ ทั้งนี้เพราะเรายังขาดสมาธิที่เข้มแข็งที่จะควบคุมจิตใจให้อยู่ในศีล ดังนั้นจึงจําเป็นที่จะต้องใช้หมวดที่ 2 ของมรรค คือหมวดสมาธิ มาพัฒนาควบคุมจิตใจ ในหมวดของสมาธินั้นประกอบด้วยอริยมรรค 3 ประการคือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ซึ่งแต่ละข้อมีความหมายดังนี้

(4)สัมมาวายามะ--คือเพียรชอบ ได้แก่ การฝึกอบรมจิต ซึ่งจะทําให้ท่านเห็นความอ่อนแอและความไม่มั่นคงของจิต ที่ชอบเปลี่ยนจากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่ง จิตเช่นนี้จึงต้องการการฝึกหัดให้มีความเข้มแข็ง การฝึกหัดมี 4 วิธีคือ (1) ขจัดสิ่งที่ไม่ดีออกจากจิตใจ (2) ปิดกั้นมิให้สิ่งไม่ดีเข้ามาในจิตใจ (3) รักษาและเพิ่มพูนสิ่งที่ดีที่มีอยู่ในจิตใจ และ (4) เปิดรับสิ่งที่ดีที่ยังขาดอยู่เข้าไว้ในจิตใจ เมื่อท่านได้ฝึกจิตให้มีสติระลึกรู้ถึงลมหายใจเข้าออก หรือวิธีการแบบอานาปานสติ ก็เท่ากับท่านได้เริ่มต้นฝึกหัดใน สิ่งเหล่านี้แล้ว

(5)สัมมาสติ--คือระลึกชอบ ได้แก่การที่มีความระลึกรู้อยู่แต่กับปัจจุบัน สําหรับอดีตเป็นแต่เพียงความทรงจํา และอนาคตเป็นแต่เพียงความปรารถนา ความกลัว ความคิดฝันเท่านั้น ท่านได้เริ่มฝึกสัมมาสติ โดยการฝึกตนเอง ให้รู้สึกถึงสิ่งที่กําลังปรากฏเด่นชัดอยู่ในปัจจุบันภายในขอบเขต อันจํากัดที่บริเวณช่องจมูก ท่านจะต้องรักษาสติให้อยู่กับความเป็นจริงทั้งหมด ตั้งแต่ความเป็นจริงทั่วๆไปที่แลเห็นง่าย จนถึงความเป็นจริงขั้นละเอียดที่สุด โดยเริ่มด้วยการสังเกตลมหายใจ ลมหายใจที่ท่านตั้งอกตั้งใจหายใจเข้า หายใจออก แล้วจึงค่อยๆผ่อนมาเป็นลมหายใจที่นุ่มนวลตามธรรมชาติ จากนั้นก็เฝ้าสังเกตดูสัมผัสของลมหายใจว่า ลมหายใจที่ผ่านเข้าออกนั้นไปสัมผัสที่ตรงไหนบ้าง ต่อมาท่านก็จะมุ่งความสนใจ ไปยังสิ่งที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก นั่นก็คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติภายในขอบเขตบริเวณที่จํากัดไว้นี้ ซึ่งท่านอาจรู้สึกถึงอุณหภูมิของลมหายใจที่ค่อนข้างจะเย็นในขณะที่หายใจเข้า และรู้สึกถึงอุณหภูมิของลมหายใจที่ค่อนข้างจะอุ่นเมื่อหายใจออก นอกจากนี้ก็อาจจะยังมีความรู้สึกอื่นๆ เกิดขึ้นอีกนับไม่ถ้วน ที่ไม่เกี่ยวกับลมหายใจ เช่น ความรู้สึกร้อน หนาว คัน เนื้อเต้น สั่นสะเทือน มีอาการเหมือนมีอะไรมากด มีความเครียด มีอาการ ปวดเมื่อย เป็นต้น ท่านไม่อาจจะเลือกให้เกิดเฉพาะความรู้สึก ชนิดใดชนิดหนึ่งได้ เพราะท่านไม่สามารถสร้างความรู้สึกเหล่านี้ขึ้นได้เอง ท่านจึงเพียงแต่สังเกตดูโดยมีสติระลึกรู้อยู่เท่านั้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะเรียกว่าอะไรก็ไม่สําคัญ สิ่งที่สําคัญ ก็คือการมีสติระลึกรู้ถึงสภาวะความเป็นจริงของความรู้สึกเหล่านี้ โดยที่เราไม่ต้องไปปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น

ลักษณะนิสัยของจิตที่คอยแต่จะนึกไปถึงอนาคต หรือคิดย้อนสู่อดีตอยู่ตลอดเวลานั้น คือตัวการที่ทําให้เกิดโลภะ และโทสะขึ้นมา การฝึกฝนให้มีความระลึกชอบก็เท่ากับเป็นการทําลายนิสัยนี้ แต่มิใช่ว่าหลังจากการอบรมครั้งนี้แล้ว ท่านจะลืมอดีตจนหมดสิ้น หรือไม่มีความนึกคิดไปถึงอนาคตก็หาไม่ เพียงแต่ตามความเป็นจริงนั้น ท่านมักจะเสียเวลาไปกับการนึกถึงอดีต และอนาคตโดยไม่จําเป็น จนกระทั่งบางครั้งถึงกับลืมสิ่งที่กําลังจะทําไปเลย การพัฒนาสัมมาสติจะทําให้ท่านได้เรียนรู้ถึงการกําหนดจิตให้มั่นคงอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน และท่านก็จะพบว่าท่านสามารถจะเรียกอดีตกลับคืนมาได้เมื่อท่านต้องการ และสามารถวางอนาคตให้เหมาะสมได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะนําความสุขและความไพบูลย์ให้กับชีวิตของท่าน

(6)สัมมาสมาธิ--คือตั้งมั่นชอบ ได้แก่การมีจิตตั้งมั่น แต่จิตมั่นเพียงอย่างเดียวมิใช่เป้าหมายของการฝึกตามแนวทางนี้ สมาธิที่ท่านพัฒนาขึ้นมาจะต้องมีความบริสุทธิ์เป็นพื้นฐาน คนเราอาจมีจิตตั้งมั่นอยู่ในกิเลส เช่น โลภะ โทสะ หรือโมหะก็ได้ ซึ่งไม่ใช่สัมมาสมาธิ เราจะต้องตระหนักถึงความเป็นจริงที่กําลังปรากฏอยู่ภายในกายของเรา โดยไม่มีความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ เมื่อเราสามารถรักษาความมีสติระลึกรู้ให้ต่อเนื่องอยู่ทุกขณะได้จึงจะเรียกว่ามีสัมมาสมาธิ

การรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด เท่ากับท่านได้ปฏิบัติในหมวดของศีล และการฝึกฝนจิตให้จดจ่ออยู่แต่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน โดยไม่ต้องมีอารมณ์พอใจหรือไม่พอใจ เท่ากับท่านได้เริ่มพัฒนาสมาธิ ขอให้ท่านปฏิบัติด้วยความขยันหมั่นเพียรเพื่อขัดเกลาจิตใจของท่าน เพื่อที่เมื่อท่านเริ่มฝึกปัญญา ท่านจะสามารถเข้าถึงส่วนลึกของจิตไร้สํานึกหรือภวังคจิตได้ มีโอกาสขจัดกิเลสที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในภวังคจิต แล้วท่านจะได้พบกับความสุขที่แท้จริง คือความสุขจากการหลุดพ้นจากความทุกข์

ขอให้ทุกท่านจงประสบกับความสุขที่แท้จริง

ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขโดยทั่วหน้ากัน!