ธรรมบรรยายวันที่ 7

ความสําคัญของการวางอุเบกขาต่อความรู้สึกทั้ง ละเอียดและหยาบ--ความต่อเนื่องในการเจริญสติ--มิตรทั้ง 5 หรือพละ 5 อันได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

เจ็ดวันผ่านไปแล้ว เรายังเหลือเวลาอีก 3 วัน ในการทําความเพียร จงใช้วันที่เหลืออยู่นี้ให้มีประโยชน์ให้มากที่สุด ด้วยการฝึกปฏิบัติให้มาก ให้ต่อเนื่อง และให้ถูกวิธี

เทคนิคสําคัญของการปฏิบัติมีอยู่ 2 ประการคือ การตั้งสติมั่น และ การวางอุเบกขา เราจะต้องพัฒนาสติ ให้มีความระลึกรู้ถึงเวทนา หรือความรู้สึกทุกชนิดที่เกิดขึ้นกับกาย และในเวลาเดียวกันก็วางอุเบกขากับความรู้สึกเหล่านั้น ด้วยการวางอุเบกขาเช่นนี้ เราก็จะพบว่า ไม่ช้าไม่นานความรู้สึกหรือเวทนา ก็จะเกิดมีขึ้น ณ บริเวณที่เคยเป็นจุดบอด จุดว่างเปล่า ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สามารถจับความรู้สึกได้ นอกจากนี้ บริเวณที่เคยมีความรู้สึกหยาบ เช่น ความรู้สึกที่ตื้อทึบ แข็งตึง ไม่สบายต่างๆ ก็จะค่อยๆ ละลายหายไป กลับกลายเป็นความรู้สึกละเอียดเบา สั่นสะเทือนกระเพื่อมไหว แล้วเราก็จะเริ่มรู้สึกว่ามีพลังงานอันสดชื่นไหลเลื่อนไปทั่วร่างกาย

อันตรายเมื่อสภาพธรรมเช่นนี้เกิดขึ้นก็คือ อาจทําให้บางคนหลงระเริงไปกับความสบายที่เกิดขึ้น จนยึดเอาเป็นจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติ แท้จริงแล้ว จุดประสงค์ในการปฏิบัติวิปัสสนามิได้อยู่ที่การรับรู้ถึงความรู้สึกชนิดใดชนิดหนึ่ง หากแต่อยู่ที่การรู้จักวางอุเบกขา ต่อความรู้สึกทุกชนิดที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกทางกายหรือเวทนานั้นไม่ว่าจะหยาบหรือละเอียด จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นความก้าวหน้าในการเจริญวิปัสสนา จึงวัดได้จากความสามารถในการวางอุเบกขาต่อความรู้สึกทุกชนิดที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา

ถึงแม้เราอาจจะมีประสบการณ์กับความรู้สึกอ่อนละเอียด เบาสบาย ที่ไหลเลื่อนไปได้ทั่วร่างกายแล้วก็ตาม ความรู้สึกหยาบ ทึบตึง ก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก เช่นเดียวกับความรู้สึกว่ามีจุดบอด จุดว่างอยู่ในร่างกาย ความรู้สึกเช่นนี้มิได้เป็นเครื่องแสดงว่า การปฏิบัติของท่านถดถอยแต่ประการใด หากแต่กลับเป็นเครื่องหมายแสดงความก้าวหน้าในการปฏิบัติของท่าน เมื่อเราสามารถเจริญสติและวางอุเบกขาได้แล้ว เราจะสามารถเจาะลึกเข้าไปถึงจิตไร้สํานึกหรือภวังคจิตได้เองโดยธรรมชาติ และจะสามารถขุดค้นเอาความไม่บริสุทธิ์หรืออนุสัยกิเลสที่หลบซ่อนอยู่ในนั้นออกมา ตราบใดที่อนุสัยกิเลสยังฝังรากลึกอยู่ภายในจิตไร้สํานึก มันก็จะนําความทุกข์มาให้ได้เสมอ วิธีเดียวที่จะกําจัดอนุสัยกิเลสได้ ก็ด้วยการปล่อยให้มันผุดขึ้นมาอยู่บนพื้นผิวของจิตสํานึก แล้วก็สลายตัวไป เมื่อใดที่อนุสัยกิเลสซึ่งฝังรากลึกอยู่ภายในได้ผุดโผล่ขึ้นมา ร่างกายเราก็อาจมีความรู้สึกที่ไม่สุขสบายเกิดขึ้น ถ้าเราเพียงแต่สังเกตดูความรู้สึกนั้นเฉยๆ โดยไม่ต้องมีปฏิกิริยาตอบสนอง ความรู้สึกนั้นก็จะผ่านไป สังขารหรือการปรุงแต่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดเวทนาเหล่านั้นก็จะสลายไปด้วย

เวทนาหรือความรู้สึกทางกายทุกชนิด ไม่ว่าหยาบหรือละเอียด ต่างก็มีลักษณะเหมือนๆ กัน คือไม่เที่ยงแท้ ไม่คงทนถาวร ความรู้สึกหยาบที่ไม่น่าพอใจ เมื่อเกิดขึ้นก็ดูราวกับจะเกาะติดอยู่กับเราระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดก็จะต้องดับไป ส่วนความรู้สึกที่ละเอียดที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วติดต่อกันหลายๆ ครั้ง ก็ยังคงมีลักษณะเดียวกันคือ ไม่คงทนถาวร ไม่มีความรู้สึกทางกายชนิดใดเลยที่เกิดขึ้นแล้ว จะคงอยู่กับเราตลอดไป เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรจะมีความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบต่อความรูสึกทุกชนิดที่เกิดขึ้นที่ร่างกายของเรา เมื่อมีความรู้สึกที่ไม่สบายหรือไม่น่าพอใจเกิดขึ้น เราก็เพียงแต่สังเกตดูมันไป โดยไม่ต้องมีความรู้สึกไม่ชอบไม่พอใจ เมื่อมีความรู้สึกเบาสบายหรือน่าพอใจเกิดขึ้น เราก็ยอมรับ โดยไม่ต้องไปรู้สึกตื่นเต้นยินดี พอใจ หรือติดยึดอยู่กับมันในทุกกรณี เราต้องเข้าใจถึงความไม่เที่ยงแท้ หรือความเป็นอนิจจัง ของความรู้สึกทางกายทุกชนิด แล้วเราก็จะสามารถยิ้มรับได้ทั้งเมื่อมีความรู้สึกเกิดขึ้นและเมื่อมันดับไป

การวางอุเบกขานั้นจะต้องฝึกที่เวทนาหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางกาย หากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงขึ้นในชีวิต ในร่างกายของเรานั้นมีความรู้สึกเกิดขึ้นอยู่ทุกขณะ แต่โดยปกติแล้วจิตสํานึกของเรามักไม่รู้ ในขณะที่จิตไร้สํานึกหรือภวังคจิตของเราจะรับรู้อยู่ทุกขณะ และก็ทําปฏิกิริยาตอบสนองต่อความรู้สึกเหล่านั้นด้วยความพอใจหรือไม่พอใจ แต่ถ้าจิตสํานึกของเราได้ถูกฝึกให้ว่องไว สามารถรู้ได้ถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในร่างกายเรา และในเวลาเดียวกันก็สามารถวางเฉยต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นๆได้ ความเคยชินเก่าๆ ของเราที่คอยแต่จะแสดงปฏิกิริยาตอบสนองความรู้สึกออกไปโดยไม่ยั้งคิดก็จะหยุดลง เราก็จะได้เรียนรู้ถึงการที่จะวางอุเบกขาได้ในทุกสถานะ แล้วเราก็จะสามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้

การที่ท่านมาที่นี่ก็เพื่อที่จะได้เรียนรู้ถึงความเป็นจริงที่เกี่ยวกับตัวเอง ได้รู้ว่าความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร และทําให้เกิดทุกข์ขึ้นได้อย่างไร มนุษย์เรานั้นมีส่วนประกอบอยู่สองส่วน คือรูปกับนาม หรือกายกับใจ ซึ่งเราจะต้องสังเกตดูความรู้สึกของทั้งสองส่วน ทั้งนี้เราจะไม่สามารถสังเกตดูร่างกายของเราได้ โดยไม่รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในกายคือความรู้สึก และในทํานองเดียวกันเราก็ไม่อาจสังเกตดูจิตได้ โดยไม่รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในจิต คือความคิดของเรา และเมื่อเราค้นลึกลงไปถึงสัจธรรมที่แฝงอยู่ในกายและจิตแล้ว เราก็จะเห็นได้ชัดว่า เมื่อเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นในใจ ร่างกายก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความรู้สึกนั้นด้วยเวทนา ความรู้สึกหรือเวทนาที่เกิดขึ้นในกายจึงเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุดในการพิจารณาหาสัจธรรมของร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้เวทนายังเป็นจุดเริ่มต้นของการปรุงแต่งอีกด้วย ในการที่จะสังเกตความเป็นจริงหรือสัจธรรมในตัวเราเพื่อให้หยุดสร้างกิเลสนั้น เราจะต้องรักษาสติให้สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกทุกชนิดที่เกิดขึ้นในกายเรา และวางอุเบกขาต่อความรู้สึกเหล่านั้นให้ติดต่อกันไปให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ด้วยเหตุนี้  ท่านจึงจะต้องใช้วันเวลาที่เหลืออยู่นี้  ฝึกปฏิบัติให้ต่อเนื่องกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะระหว่างหลับตาเมื่ออยู่ในชั่วโมงปฏิบัติ หรือลืมตาเมื่ออยู่ระหว่างพัก ท่านก็จะต้องพยายามที่จะเจริญสติและอุเบกขาไว้ ให้สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกทุกชนิดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะทําอะไร ก็ให้ทําไปอย่างปกติ จะเดิน จะกิน จะดื่ม หรือจะอาบน้ำ ก็ไม่ต้องไปค่อยๆทํา หรือทําอย่างช้าๆ ขอแต่เพียงให้รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย และความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นในขณะเดียวกันเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของร่างกายที่กําลังเคลื่อนไหวอยู่ หรือจะเป็นส่วนไหนก็ได้ แต่ขอให้มีสติระลึกรู้และวางอุเบกขาไว้ให้มั่น

เช่นเดียวกัน เมื่อท่านเข้านอนตอนกลางคืน ขอให้หลับตาแล้วคอยเฝ้าดูความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ส่วนไหนของร่างกาย ถ้าท่านหลับไปอย่างมีสติ เมื่อท่านตื่นขึ้นมาในตอนเช้าท่านก็จะสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายในขณะนั้นได้ทันที บางครั้งท่านอาจจะหลับไม่สนิท หรืออาจจะตื่นอยู่ตลอดทั้งคืนก็ได้ ซึ่งก็จะเป็นการดีสําหรับท่าน ถ้าหากท่านนอนอยู่บนเตียง เจริญสติและวางอุเบกขาตลอดทั้งคืน เพราะร่างกายของท่านจะได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ไม่มีการพักผ่อนจิตใจใดๆที่จะวิเศษไปกว่าการเจริญสติและวางอุเบกขา แต่ถ้าท่านเกิดกังวลใจคิดว่า ท่านกําลังเป็นโรคนอนไม่หลับ ท่านก็จะสร้างความเครียดให้กับตนเอง และจะรู้สึกอ่อนเพลียในวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้ท่านยังไม่ควรที่จะพยายามนั่งปฏิบัติตลอดทั้งคืน เพราะจะเป็นการบังคับตนเองมากไป ถ้าง่วง ก็นอน แต่ถ้าไม่ง่วง ก็ควรจะปล่อยร่างกายได้พักผ่อนอยู่ในท่านอน และปล่อยใจให้พักผ่อนด้วยการเจริญสติและวางอุเบกขาต่อเวทนาทุกชนิดที่เกิดขึ้น

พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “เมื่อผู้ปฏิบัติได้ฝึกหัดตนเองอย่างเอาจริงเอาจัง โดยไม่พลั้งเผลอแม้สักขณะจิตเดียว ในการรักษาสติและวางอุเบกขาต่อเวทนาที่เกิดขึ้น ผู้ปฏิบัตินั้นก็จะเกิดปัญญาอันแท้จริง สามารถเข้าใจในเวทนาได้อย่างถ่องแท้” ผู้ปฏิบัติย่อมเข้าใจถึงการที่บุคคลผู้ขาดปัญญามักจะปรุงแต่งตอบสนองต่อความรู้สึกทางกายหรือเวทนาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความทุกข์ให้กับตนเอง นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติยังเข้าใจด้วยว่า ผู้รู้แจ้งถึงความไม่เที่ยงแท้ของเวทนา ย่อมไม่ปรุงแต่งตอบสนองต่อเวทนา และจะสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ พระพุทธองค์ได้ตรัสด้วยว่า “ด้วยความรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องของเวทนาผู้ปฏิบัติย่อมเข้าถึงสภาวะนิพพานอันอยู่เหนือนามรูป” เราไม่อาจจะเข้าถึงสภาวะนิพพานได้ จนกว่าสังขารหนักจะถูกขจัดออกไปให้หมดสิ้น เพราะสังขารหนักนั้นจะนําเราไปสู่ชีวิตใหม่ที่ต่ำกว่าเก่า ชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ร้อน ยังนับว่าเป็นโชคดีของเราอยู่บ้าง ที่เมื่อเราเริ่มปฏิบัติวิปัสสนา สังขารหนักเหล่านี้จะผุดลอยขึ้นมาก่อน และเมื่อเราสามารถวางอุเบกขาให้มั่นไว้  สังขารเหล่านั้นก็จะสลายตัวไป  เมื่อสังขารทั้งหลายได้ถูกขจัดออกไป เราก็จะเริ่มได้สัมผัสกระแสแห่งนิพพานเป็นครั้งแรก และเมื่อผู้ใดได้ลิ้มรสกระแสแห่งนิพพานแล้ว พฤติกรรมของบุคคลผู้นั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงความประพฤติใดๆ ที่จะนําชีวิตให้ตกต่ำลงไป ก็จะไม่สามารถปฏิบัติได้อีก และการปฏิบัติภาวนาก็จะก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆจนกระทั่งสามารถขจัดสังขารอันเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏออกไปได้หมด และกลายเป็นผู้ที่หลุดพ้นอย่างแท้จริง ดังที่พระพุทธองค์ทรงสรุปว่า “บุคคลใดที่ได้เห็นแจ้งในสัจธรรมของรูปและนาม เมื่อถึงแก่ความตาย เขาย่อมหลุดพ้นจากสังสารวัฏ เพราะเขาได้รู้แจ้งในเวทนาอย่างสมบูรณ์แล้ว”

ท่านได้เริ่มเดินก้าวแรกไปบนทางสายนี้  ด้วยการฝึกตนเองให้มีสติรับรู้ถึงเวทนาหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในกาย และถ้าท่านคอยระมัดระวังไม่ปรุงแต่งตอบสนองต่อเวทนาเหล่านั้น ท่านก็จะได้พบว่าสังขาล หรือการปรุงแต่งเก่าๆ จะหลุดลอกออกไปทีละชั้น ทีละชั้น ด้วยการวางจิตเป็นกลางต่อความรู้สึกอันหยาบ ท่านก็จะเริ่มก้าวหน้าไปสู่ความรู้สึกอันละเอียดประณีต และถ้าท่าน สามารถรักษาอุเบกขาจิตเอาไว้ได้ ในไม่ช้าท่านก็จะก้าวหน้าไปถึงขึ้นที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า จะหยั่งเห็นแต่การเกิดดับตลอดร่างกาย ความรู้สึกอันหยาบก็จะละลายหายไป เกิดเป็นกระแสคลื่นสั่นสะเทือนกระเพื่อมไหวอ่อนเบาตลอดทั้งร่าง ซึ่งจะทําให้เกิดความสุขอย่างยิ่งยวด แต่สิ่งนี้มิใช่จุดหมายปลายทางของเรา และเราจะต้องไม่ติดข้องอยู่กับความสุขเหล่านี้ กิเลสหรือความไม่บริสุทธิ์ต่างๆ ได้ถูกขจัดออกไปแล้วเป็นบางส่วนหากแต่ลึกลงไปยังมีกิเลสฝังอยู่ในจิตอีกมาก ถ้าเราเฝ้าสังเกตต่อไปด้วยจิตอันเป็นอุเบกขา สังขาลหรือการปรุงแต่งที่อยู่ลึกลงไปจะผุดโผล่ขึ้นมาและถูกทําลายไป เมื่อกิเลสทั้งหลายถูกขจัดออกไปหมด เราก็จะถึงสภาพจิตอันเป็นอมตะ อยู่เหนือนามและรูป คือไม่มีการเกิด ซึ่งทําให้ไม่มีการดับ สภาพจิตที่เรียกว่านิพพาน

สภาพจิตเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ที่ได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องในการเจริญสติและอุเบกขา หากแต่ทุกคนต้องปฏิบัติด้วยตนเอง

ในเมื่อมีนิวรณ์ 5 เป็นศัตรูหรืออุปสรรคในการบําเพ็ญเพียร เราก็มีมิตรอีก 5 หรือพละ 5 ที่จะช่วยอุปการะเรา  หากเรารักษามิตรทั้ง 5 นี้ไว้ให้เข้มแข็งและบริสุทธิ์ จะไม่มีศัตรูใดที่มามีอํานาจเหนือเราได้

มิตรแรกคือศรัทธา หรือความเชื่อมั่น ถ้าปราศจากความเชื่อมั่น เราก็ไม่อาจจะปฏิบัติได้ เพราะเราจะมีความสงสัยลังเลใจอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าศรัทธานั้นเป็นความเชื่ออย่างงมงาย ศรัทธาชนิดนั้นก็กลับจะเป็นศัตรูในการปฏิบัติ เพราะความงมงายทําให้เราขาดปัญญาที่จะแยกแยะว่า อะไรคือความเชื่อที่ถูกต้อง เราอาจจะมีศรัทธาในเทพองค์ใดองค์หนึ่ง หรือบุคคลผู้ปฏิบัติดีประพฤติชอบคนใดคนหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นศรัทธาที่ถูกต้องเราจะนึกถึงแต่คุณธรรมความดีงามของบุคคลผู้นั้น และเกิดแรงบันดาลใจที่จะปลูกฝังคุณธรรมความดีงามนั้นๆ ให้เกิดแก่ตัวเราเอง ศรัทธาเช่นนี้จึงจะมีความหมายและมีประโยชน์ แต่หากเราไม่พยายามเอาแบบอย่างความดีงามของบุคคลที่เราศรัทธามาประพฤติปฏิบัติ ศรัทธานั้นก็จะเป็นความงมงาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมาก

ตัวอย่างเช่น การที่เรายึดถือพระพุทธองค์เป็นสรณะเราจะต้องระลึกถึงคุณธรรมของพระองค์ และพยายามปลูกฝังคุณธรรมเหล่านั้นให้กับตนเอง คุณธรรมอันสําคัญของพระพุทธองค์คือความรู้แจ้งเห็นจริง ดังนั้นแท้จริงแล้วที่พึ่งของเราก็คือความรู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งจะต้องเป็นความรู้แจ้งเห็นจริงที่เกิดจากการปฏิบัติด้วยตัวของเราเอง เรานับถือศรัทธาในผู้ใดก็ตามที่สามารถบรรลุธรรม ได้รู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าเราได้ให้ความสําคัญต่อคุณธรรมของผู้นั้น โดยไม่ผูกพันอยู่กับลัทธิหรือตัวบุคคล และการที่จะบูชาพระพุทธองค์นั้น ก็มิใช่ด้วยการทําพิธีกรรมใดๆ หากแต่โดยการปฏิบัติตามคําสอนของพระองค์ โดยการก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งธรรมะ จากก้าวแรกคือศีลไปยังสมาธิ ไปยังปัญญา และไปยังนิพพานหรือความหลุดพ้น

ผู้ที่เป็นพุทธะคือผู้ที่ได้ขจัดโลภะ โทสะ และโมหะ ออกไปจากตัวหมดแล้ว เป็นผู้ชนะศัตรูภายใน คือกิเลสของตนเอง รอบรู้หลักแห่งธรรมะและการปฏิบัติธรรม เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และสอนผู้อื่นในสิ่งที่ตนปฏิบัติได้โดยไม่มีช่องว่างระหว่างคําสอนและการปฏิบัติของตน ทุกก้าวย่างเป็นไปโดยชอบและนําไปสู่หนทางที่ชอบ เป็นผู้ที่หยั่งรู้ถึงทุกสิ่งในจักรวาล โดยการศึกษาภายในกายตนเอง เป็นผู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตาต่อผู้อื่น และพยายามช่วยผู้ที่หลงเดินทางผิดให้พบทางที่ถูกต้อง เป็นผู้มีจิตอันเป็นอุเบกขาอย่างสมบูรณ์ หากบุคคลใดได้ปลูกฝังคุณธรรมเหล่านี้ให้แก่ตนเอง เพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ก็นับว่าบุคคลนั้นคือผู้ที่ถือพระพุทธองค์เป็นสรณะในความหมายที่แท้จริง

เช่นเดียวกันกับการยึดถือพระธรรมเป็นสรณะ ก็มิใช่หมายถึงการถือลัทธิ ไม่ใช่การเปลี่ยนศาสนา จากศาสนาหนึ่งไปยังอีกศาสนาหนึ่ง   การยึดถือพระธรรมเป็นที่พึ่ง ที่จริงแล้วก็คือการยึดถือศีลธรรม สามารถควบคุมจิตใจ มีปัญญาเป็นที่พึ่ง คําสอนที่จะถือเป็นธรรมะได้ จะต้องสามารถที่จะอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย สามารถพิสูจน์ได้ แม้แต่ความจริงในเรื่องของนิพพานก็ยังไม่อาจจะยึดถือได้ จนกว่าจะมีประสบการณ์ด้วยตนเอง ธรรมะจะต้องยังประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้ปฏิบัติในทันทีที่ได้ปฏิบัติ มิใช่เป็นเพียงคําสัญญาถึงผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้เอง เห็นได้เอง มิใช่ให้ยอมรับนับถืออย้างงมงาย และเมื่อผู้ปฏิบัติได้ทดลองปฏิบัติและเห็นคุณค่าของธรรมะแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะสนับสนุนช่วยเหลือให้ผู้อื่นได้มีโอกาสมาปฏิบัติ เพื่อสัมผัสผลที่ตนกําลังประสบอยู่บ้าง ทุกย่างก้าวบนเส้นทางธรรมะจะพาไปสู่จุดหมายปลายทาง ไม่มีการสูญเปล่า ธรรมะย่อมทรงคุณประโยชน์ทั้งในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในที่สุด ผู้ปฏิบัติทุกคนที่มีสติปัญญาเพียงปานกลาง ไม่ว่าจะมีภูมิหลังเป็นมาอย่างไร ก็สามารถปฏิบัติได้ และได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น ด้วยความเข้าใจถึงการยึดถือพระธรรมเป็นสรณะ และเริ่มปฏิบัติ ดังนี้จึงจะถือว่ามีความศรัทธาตามความหมายอันแท้จริง

ในทํานองเดียวกัน การยึดถือพระสงฆ์เป็นสรณะ ก็มิใช่เป็นการเข้าไปพัวพันกับลัทธินิกายใด บุคคลใดก็ตามที่อยู่บนเส้นทางของศีล สมาธิ และปัญญา และได้เข้าสู่ทางแห่งความหลุดพ้น และเป็นผู้ทรงศีล บุคคลผู้นั้นคือพระสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร ผิวสีอะไร มีภูมิหลังอย่างไรก็ไม่สําคัญ  ถ้าเราเกิดความบันดาลใจจากการที่ได้พบบุคคลเช่นนั้น และพยายามปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงจุดหมายเดียวกันนั้น ศรัทธาของเราที่มีต่อพระสงฆ์ก็จะมีความหมายอันถูกต้องแท้จริง

มิตรที่สองคือวิริยะ หรือความเพียร ซึ่งเช่นเดียวกับศรัทธา จะต้องมิใช่เป็นความเพียรที่งมงาย มิฉะนั้นจะเกิดอันตรายในการปฏิบัติที่ผิดทาง และจะไม่ได้รับผลตามที่คาดหมาย วิริยะจะต้องประกอบไปด้วยความเข้าใจถึงวิธีการปฏิบัติจึงจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติ

มิตรที่สามคือสติ หรือความระลึกรู้อยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน การระลึกถึงอดีตมิใช่สติ หากแต่เป็นเพียงความจําเท่านั้น และการคิดถึงอนาคตก็มิใช่สติ เป็นแต่เพียงความคาดหวัง หรือความหวั่นวิตก เราจะต้องพยายามเจริญสติให้ระลึกรู้อยู่แต่กับความเป็นจริงที่กําลังปรากฏอยู่ภายในกายเราในเวลาปัจจุบันเท่านั้น

มิตรที่สี่คือสมาธิ หรือการตั้งสติมั่นอยู่กับความเป็นจริงอยู่ทุกขณะ ติดต่อกันไปโดยไม่มีการหยุด และโดยไม่ใช่การจินตนาการ หรือมีกิเลส โลภะ โทสะใดๆ มาครอบงํา จึงจะเรียกว่าเป็นสมาธิในความหมายอันแท้จริง เป็นสมาธิอันชอบหรือสัมมาสมาธิ

มิตรที่ห้าคือปัญญา หรือความรู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งมิใช่ปัญญาที่เกิดจากการฟัง การอ่าน อันเป็นสุตมยปัญญา หรือการแยกแยะพิจารณาหาเหตุผล อันเป็นจินตามยปัญญา แต่จะต้องเป็นภาวนามยปัญญา โดยการพัฒนาปัญญาในตัวของเราเองจากการปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติเท่านั้นที่จะนําเราไปสู่ความหลุดพ้นได้ และปัญญาที่แท้จริงนั้นจะต้องมีพื้นฐานมาจากการสังเกตเวทนาที่เกิดขึ้นภายในกาย เมื่อเราสามารถวางอุเบกขาต่อความรู้สึกทุกชนิดที่เกิดขึ้นในกายเรา ด้วยความเข้าใจถึงธรรมชาติแห่งความเป็นอนิจจังของมัน อุเบกขาจิตที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นอุเบกขาที่เกิดจากส่วนลึกของจิตใจ ซึ่งจะช่วยให้เรามั่นคงอยู่ได้ในท่ามกลางความปรวนแปรต่างๆ ของชีวิตประจําวัน

การฝึกปฏิบัติวิปัสสนานั้น มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การทําให้ผู้ปฏิบัติสามารถดํารงชีวิตอยู่ได้อย่างถูกต้องชอบธรรม สามารถปฏิบัติหน้าที่ทางโลกตามความรับผิดชอบได้ด้วยจิตที่ไม่หวั่นไหว มีความสงบสุขในตัวของตัวเอง และทําให้ผู้อื่นมีความรู้สึกสุขสงบไปด้วย หากท่านรักษามิตรทั้ง 5 ไวให้เข้มแข็ง ท่านจะเป็นผู้ที่มีศิลปะแห่งการดํารงชีวิตอย่างสมบูรณ์ และจะมีชีวิตอยู่ด้วยความดีงาม มีสุขภาพดี และมีความสุข

ขอท่านทั้งหลายจงก้าวหน้าไปบนเส้นทางแห่งธรรมะ เพื่อความดีงาม และเพื่อยังประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น

ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์ จงได้พบกับธรรมะอันบริสุทธิ์ และพ้นจากความทุกข์ ได้พบกับความสุขอันแท้จริง

ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขโดยทั่วหน้ากัน