บรมครูในแนวทางนี้

ซายาจี อูบาขิ่น

พ.ศ. 2442 - พ.ศ. 2514

บทความต่อไปนี้ถูกแปล และตัดตอนมาจาก The Sayagyi U Ba Khin Journal โดย Vipassana Research Institute.

ท่านอาจารย์ ซายาจี อูบาขิ่น เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2442 ณ กรุงร่างกุ้ง เมืองหลวงของพม่า ท่านถือกำเนิดในครอบครัวระดับกลาง เป็นบุตรชายคนเล็กในจำนวนทั้งหมดสองคนของบิดามารดา ท่านเป็นนักเรียนที่เรียนเก่ง สามารถจดจำบทเรียนได้ทั้งหมด รวมทั้งท่องจำไวยากรณ์ภาษาอังกฤษได้ขึ้นใจจากหน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย ในปี 2460 ท่านสำเร็จการศึกษาจากชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยได้รับรางวัลเหรียญทองและทุนศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่ความจำเป็นทางบ้านทำให้ท่านต้องออกมาหางานทำ ไม่อาจศึกษาต่อได้ ท่านอูบาขิ่นเข้าทำงานครั้งแรกกับหนังสือพิมพ์พม่าชื่อ เดอะซัน แต่หลังจากนั้นก็สามารถสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งเสมียนที่สำนักงานกรมบัญชีกลาง ในปี 2480 เมื่อพม่าแยกตัวจากประเทศอินเดีย ท่านได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้าหน่วยงาน

ท่านอูบาขิ่นได้ทดลองปฏิบัติวิปัสสนาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2480 ตอนนั้นมีศิษย์คนหนึ่งของท่าน ซายาเท็ตจี-เป็นชาวนาผู้มีฐานะดี และเป็นครูสอนวิปัสสนา-ได้มาเยี่ยม และอธิบายวิธีการปฏิบัติอานาปานสติให้ฟัง เมื่อท่านทดลองฝึกปฏิบัติดู ก็ปรากฎว่าสามารถทำจิตให้มีสมาธิตั้งมั่นได้เป็นอย่างดี จึงเกิดความสนใจและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเข้ารับการอบรมเต็มหลักสูตร หนึ่งอาทิตย์หลังจากนั้นท่านได้ขอลางานสิบวัน และมุ่งหน้าไปยังสำนักของท่านซายาเท็ตจีที่เปียวบ่วยจีทันที และในคืนที่ท่านมาถึงนั้นเอง ท่านซายาเท็ตจีก็ได้สอนวิธีการปฏิบัติอานาปานสติให้แก่ท่านอูบาขิ่นและชาวพม่าอีกคน ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านเลดี ซายาดอว์ ทั้งสองปฏิบัติได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งท่านซายาเท็ตจีตัดสินใจสอนวิปัสสนาให้ในวันถัดมา ในระหว่างการฝึกปฏิบัติหลักสูตร 10 วันครั้งแรกนี้ ท่านอูบาขิ่นปฏิบัติได้ผลดียิ่ง และหลังจากนั้นท่านก็ได้เดินทางมาฝึกปฏิบัติที่สำนักของท่านซายาเท็ตจีบ่อยครั้ง และได้เข้าพบกับท่านซายาเท็ตจี ทุกครั้งที่ท่านซายาเท็ตจีเดินทางเข้ามาในร่างกุ้ง

ท่านอูบาขิ่นรับราชการต่อมาอีก 26 ปี ในระหว่างนั้นก็ได้รับตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลางเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2491 อันเป็นวันที่ประเทศพม่าได้รับเอกราช และในช่วงเวลา 20 ปีหลังจากนั้น ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายตำแหน่งในคณะรัฐบาล ส่วนใหญ่แล้วท่านมักจะต้องทำงานอย่างน้อย 2 ตำแหน่งในเวลาเดียวกัน และแต่ละตำแหน่งล้วนมีความรับผิดชอบสูงเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดีทั้งสิ้น มีครั้งหนึ่งที่ท่านต้องรั้งตำแหน่งอธิบดีกรมถึง 3 กรมพร้อมๆ กันเป็นเวลา 3 ปี และอีกครั้งหนึ่ง ท่านต้องดูแลถึง 4 กรมในเวลาเดียวกันเป็นเวลา 1 ปีเต็ม จนต่อมาในปีพ.ศ.2499 รัฐบาลพม่าได้มอบสมัญญานาม "ตะเรย์ สิดู" อันทรงเกียรติแก่ท่าน ท่านอาจารย์อูบาขิ่นอุทิศตนให้กับการสอนวิปัสสนาเป็นพิเศษในช่วง 4 ปีสุดท้ายของชีวิต ส่วนช่วงเวลาอื่นๆ โดยมากแล้ว ท่านมักจะน้อมนำธรรมะที่ได้จากการปฏิบัติวิปัสสนาไปประยุกต์ใช้กับงานราชการที่ท่านทุ่มเทชีวิตจิตใจ

ปีพ.ศ. 2493 ท่านอูบาขิ่นได้ก่อตั้งชมรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานขึ้นภายในสำนักงานกรมบัญชีกลาง เพื่อให้คนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในกรมฯ ได้ฝึกปฏิบัติ ต่อมาในปีพ.ศ. 2495 ท่านได้เปิดศูนย์วิปัสสนานานาชาติ (International Meditation Centre-I.M.C.) ขึ้นในเมืองร่างกุ้ง โดยอยู่ห่างจากเจดีย์ชเวดากองอันมีชื่อเสียงไปทางทิศเหนือ 2 ไมล์ ที่นี่ได้มีผู้ปฏิบัติทั้งที่เป็นชาวพม่าและชาวต่างชาติจำนวนมากมาเรียนรู้ธรรมะจากท่าน

นอกจากนี้ ท่านอูบาขิ่นยังเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการจัดงานสังคายนาครั้งที่หกหรือฉัฏฐสังคายนา ณ กรุงร่างกุ้ง ระหว่างปีพ.ศ. 2497-2499 ท่านเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์กร 2 แห่งในปีพ.ศ.2493 ซึ่งต่อมาได้ผนวกรวมเป็นสภาพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่า (Union of Burma Buddha Sasana Council-U.B.S.C.) อันมีบทบาทสำคัญในการสังคายนาครั้งใหญ่ ท่านดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกบริหารของสภาพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่า และเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายปฏิบัติ ทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีกิติมศักดิ์ของสภา ซึ่งได้มีโครงการสร้างอาคารหลายหลังบนเนื้อที่ 170 เอเคอร์ สำหรับผู้มาพัก มีทั้งโรงอาหาร โรงครัว โรงพยาบาล ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ อาคารที่พัก 4 หลัง และอาคารอำนวยการ โดยสิ่งก่อสร้างที่สำคัญคือ มหาปาสณคูหา เป็นถ้ำจำลองขนาดใหญ่ ที่พระสงฆ์จำนวนประมาณ 5,000 รูป จาก พม่า ศรีลังกา ไทย อินเดีย และลาว ได้มาสวดสังคายนา แก้ไข ปรับปรุง และเผยแพร่ พระไตรปิฎก โดยพระภิกษุได้แบ่งงานกันทำเป็นกลุ่มๆ ในการเตรียมภาษาบาลีสำหรับการเผยแพร่ เปรียบเทียบพระคัมภีร์ฉบับภาษาพม่า ภาษาศรีลังกา ภาษาไทย และภาษาเขมร กับ คัมภีร์ภาษาโรมัน ของสมาคมภาษาบาลี ในกรุงลอนดอน และได้มีการสวด พระไตรปิฎกซึ่งผ่านการแก้ไขแล้วในถ้ำแห่งนี้ โดยมีประชาชนทั่วไป ทั้งชายและหญิงมาร่วมรับฟังประมาณ 10,000 ถึง 15,000 คน ท่านอาจารย์อูบาขิ่นยังคงมีบทบาทอยู่ใน U.B.S.C จวบจนกระทั่งปีพ.ศ. 2510 โดยผสานความรับผิดชอบและความสามารถในฐานะของฆราวาสและเจ้าหน้าที่รัฐบาล เข้ากับความตั้งใจอันแรงกล้าที่จะเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์ นอกจากท่านจะทำงานรับใช้สาธารณะแล้ว ยังให้การอบรมวิปัสสนาเป็นประจำที่ศูนย์ของท่านอีกด้วย ในที่สุดท่านอาจารย์อูบาขิ่นได้เกษียณอายุราชการเมื่อปีพ.ศ.2510 และนับตั้งแต่เกษียณอายุราชการมาจวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตในเดือนมกราคม ปีพ.ศ. 2514  ท่านได้อุทิศเวลาทั้งหมดให้กับการสอนวิปัสสนา ด้วยการมาอยู่ประจำที่ศูนย์วิปัสสนานานาชาติที่ท่านก่อตั้งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ท่านอูบาขิ่นมีงานราชการรัดตัว จึงไม่มีโอกาสได้ให้การอบรมวิปัสสนาแก่ศิษย์จำนวนมาก ศิษย์ชาวพม่าของท่านส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในสังกัดของท่านเอง ส่วนศิษย์ชาวอินเดียโดยมากเป็นผู้ที่ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าแนะนำไป สำหรับชาวตะวันตกบางคนที่มาร่วมงานฉัฏฐสังคายนา ได้รับคำแนะนำให้ไปเข้าอบรมวิปัสสนากับท่านอูบาขิ่น เนื่องจากในขณะนั้นไม่มีวิปัสสนาจารย์ท่านอื่นที่มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษเลย ศิษย์ชาวต่างชาติของท่านนั้นมีจำนวนไม่มากนัก และก็มาจากแหล่งต่างๆ กัน เช่น เป็นชาวตะวันตกที่หันมานับถือศาสนาพุทธ เป็นนักวิชาการ หรือเป็นพวกที่อยู่ในวงการฑูตที่ประจำกรุงร่างกุ้ง บางครั้งท่านก็ได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาธรรมแก่ชาวต่างชาติในพม่า ซึ่งปาฐกถาธรรมต่างๆ เหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์และรวบรวมไว้ในหนังสือ "What Buddhism Is" และ " The Real Values of True Buddhist Meditation"

ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้รับทราบข่าวมรณกรรมของท่านอาจารย์อูบาขิ่น ขณะที่อยู่ในระหว่างดำเนินการอบรมวิปัสสนา ท่านจึงส่งโทรเลขพระธรรมบทบาลีที่มีชื่อเสียงไปถึงศูนย์วิปัสสนานานาชาติดังนี้

"อนิจจา วต สังขารา
อุปปทวย-ธัมมิโน
ปปัชชิตวา นิรุชฌันติ
เตสัง วูปสโม สุโข
"

ซึ่งมีความหมายว่า

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง,
มีความเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไปเป็นธรรมดา
ครั้นเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ความสงบระงับของสังขารเหล่านั้นย่อมเป็นสุข

หลังจากที่ท่านอาจารย์อูบาขิ่นถึงแก่กรรมไปได้หนึ่งปี ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้เขียนคำไว้อาลัยถึงท่านว่า "ถึงแม้ท่านอาจารย์จะจากไปขวบปีแล้ว แต่เมื่อข้าพเจ้าได้เฝ้าดูความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของการอบรมวิปัสสนา ก็ยิ่งมั่นใจว่าเป็นเพราะเมตตาของท่านนั่นเองที่ทำให้ข้าพเจ้าเกิดแรงบันดาลใจ และมีพลังที่จะรับใช้ผู้คนจำนวนมาก...เห็นได้ชัดเจนว่าพลังของธรรมะนั้นหาที่สุดมิได้ ความปรารถนาของท่านอาจารย์กำลังสัมฤทธิ์ผล คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้รับการรักษาสืบทอดมาหลายศตวรรษ กำลังมีผู้ปฏิบัติและได้รับอานิสงส์ ณ ที่นี้และบัดนี้"

อ่านประวัติเพิ่มเติมของท่าน ซายาจี อูบาขิ่น ได้ที่ Pariyatti